ข้อมูลบริการทดสอบประสิทธิภาพการสร้าง ยีนเซอร์ทูอิน (sirtuin gene) ด้วย PCR

บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับทดสอบประสิทธิภาพการสร้าง ยีนเซอร์ทูอิน (sirtuin gene) ด้วยเทคนิค PCR ระดับห้องปฏิบัติการ ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ โดยการทดสอบทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ ภายใต้สภาวะสองมิติ (2D Cell Culture) ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม โดยยีนเซอร์ทูอิน (Sirtuin genes) เป็นกลุ่มของยีนที่สร้างโปรตีน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยควบคุมกระบวนการทางชีวภาพ เช่น การเผาผลาญสารอาหาร, การเติบโตของเซลล์, การซ่อมแซม DNA โดยยีนเซอร์ทูอิน ได้รับความสนใจมากเนื่องจากมีศักยภาพในการส่งเสริมอายุยืนและป้องกันโรคเกี่ยวกับความชรา เช่น มะเร็ง, โรคอัลไซเมอร์, โรคหัวใจ ทั้งนี้สามารถตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพการสร้าง ยีนเซอร์ทูอิน ระดับห้องปฏิบัติการ ภายใต้สภาวะสองมิติ (2D Cell Culture) กับวัตถุดิบ, สมุนไพร, ผลิตภัณฑ์ยา, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ทำความรู้จักกับยีนเซอร์ทูอิน (Sirtuin gene)

ยีนเซอร์ทูอิน เป็นกลุ่มยีนที่ทำให้มีอายุขัยที่ยืนยาว (Longevity gene) ในมนุษย์มียีนเซอร์ทูอิน 7 ชนิด ได้แก่ ยีน SIRT1 ถึง SIRT7 ซึ่งยีนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการทางชีวภาพและวงจรชีวิตระดับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับความแก่ชราและการมีอายุขัยที่ยืนยาว ซึ่งการทำงานของกลุ่มยีนเซอร์ทูอินนี้อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น รูปแบบการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และความเครียด

ยีนเซอร์ทูอิน มีหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของยีน โดยจะปิดการทำงานของยีนที่ไม่ควรทำงาน ยีนเซอร์ทูอินแต่ละชนิด จะอยู่ที่องค์ประกอบของเซลล์ในตำแหน่งที่แตกต่างกันและทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ยีน SIRT1 อยู่ในนิวเคลียสและไซโตพลาสซึม มีหน้าที่ช่วยควบคุมระบบเมตาบอลิซึม การตอบสนองต่อความเครียด และการอยู่รอดของเซลล์
  • ยีน SIRT2 อยู่ในไซโตพลาสซึม มีหน้าที่ควบคุมวัฏจักรการแบ่งเซลล์และการเจริญของเซลล์
  • ยีน SIRT3 อยู่ในไมโตคอนเดรีย มีหน้าที่ควบคุมการปรับสมดุลระบบเมตาบอลิซึม ต้านการเกิดออกซิเดชั่น และการเผาผลาญในร่างกาย
  • ยีน SIRT4 อยู่ในไมโตคอนเดรีย มีหน้าที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน และการออกซิเดชั่นกรดไขมัน
  • ยีน SIRT5 อยู่ในไมโตคอนเดรีย มีหน้าที่ควบคุมวัฏจักรการสร้างยูเรีย
  • ยีน SIRT6 อยู่ในนิวเคลียส มีหน้าที่ควบคุมการปรับสมดุลระบบเมตาบอลิซึม การอักเสบ และซ่อมแซมดีเอ็นเอ
  • ยีน SIRT7 อยู่ในไมโตคอนเดรีย มีหน้าที่ถอดรหัสพันธุกรรม

การตรวจวิเคราะห์การสร้างยีนเซอร์ทูอิน ด้วยเทคนิค PCR

การศึกษาการสร้างยีนเซอร์ทูอินชนิดต่างๆ ที่ทำหน้าที่การควบคุมกระบวนการทางชีวภาพและวงจรชีวิตระดับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับความแก่ชราและการมีอายุขัยที่ยืนยาว เช่น ฤทธิ์การชะลอความแก่ของสารสกัด การอยู่รอดของเซลล์เพาะเลี้ยง หรือฤทธิ์การเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง ซึ่งนิยมใช้การเพาะเลี้ยงเซลล์ภายใต้สภาวะสองมิติ (2D Cell Culture) เป็นการนำเอาเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ได้จากสิ่งมีชีวิตโดยตรง นำมาเพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ง่ายภายนอกร่างกาย เพื่อให้เซลล์เจริญเติบโต แบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็ว และมีคุณสมบัติต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับเซลล์ที่ปลูกถ่ายในสัตว์ทดลองหรือเซลล์ที่อยู่ในร่างกาย ก่อนนำไปวิเคราะห์การแสดงออกของยีนเซอร์ทูอินด้วยวิธี Real-time PCR (RT PCR) ต่อไป ซึ่งวิธี RT PCR คือ เทคนิคการช่วยเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอที่ต้องการศึกษา และสามารถวัดปริมาณดีเอ็นเอในแต่ละรอบของการทำปฏิกิริยาได้แบบทันที

ตัวอย่างรายงานผลวิเคราะห์การแสดงออกของ Sirtuin gene ด้วยเทคนิค PCR

รูปแสดง การแสดงออกของยีน SIRT1-FL และ SIRT1-ΔExon8 ในเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ด้วยเทคนิค RT-PCR เกี่ยวกับระดับการแสดงออกในสมอง

Literature:

  • บัณฑรวรณ ธุระพระและคณะ, การประเมินอายุชีวภาพด้วยความยาวเทโลเมียร์, การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 21, วันที่ 27 มีนาคม 2563.
  • ณฉัตรีย์ วุฒิพันธุ์ชัย, การจำกัดพลังงานที่ได้รับจากอาหารเพื่อการมีอายุขัยที่ยืนยาว, ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2561.
  • Gaebler M, Silvestri A, Haybaeck J, Reichardt P, Lowery CD, Stancato LF, et al. Three-dimensional patient-derived In vitro sarcoma models: promising tools for improving clinical tumor management. Front Oncol 2017; 7: 203.
  • Lynch, Cian & Shah, Zahid & Allison, Simon & Ahmed, Shafiq & Ford, Jack & Warnock, Lorna & Serrano, Manuel & Milner, Jo. (2010). SIRT1 Undergoes Alternative Splicing in a Novel Auto-Regulatory Loop with p53. PloS one. 5. e13502. 10.1371/journal.pone.0013502.