ข้อมูลบริการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณ สารไมทราไจนีน(Mitragynine) ด้วยเทคนิค HPLC

บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณ องค์ประกอบทางชีวภาพ (Biomarker) ของ สาร ไมทราไจนีน ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยกระท่อม ได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ถือเป็นพืชเศรษฐกิจน่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่ให้ประสิทธิภาพในด้านของการลดอาการปวดที่รุนแรงต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้กระท่อมยังสามารถลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ และมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นว่าพืชกระท่อมยังสามารถใช้ทดแทนยามอร์ฟีนที่ได้รับปวดได้ ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์เพื่อจำแนกชนิดและควบคุมคุณภาพของสารไมทราไจนีน ในกระท่อม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทคนิค HPLC ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้ในการตรวจวิเคราะห์กันอย่างแพร่หลาย

กระท่อม

พืชกระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) HaviL. คือ พรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae ถูกนำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านมานานหลายร้อยปีแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 ม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มี 1-3 ช่อ ช่อกลางสั้นมาก

แต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี 5 แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 หยัก เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ผลเล็ก มีสันตามยาว 10 สัน เมล็ดมีปีก ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์แตกต่างกันที่ลักษณะของใบ กล่าวคือ พันธุ์ก้านแดงมีก้านและเส้นใบสีแดง พันธุ์แตงกวามีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ พันธุ์ยักษ์ใหญ่มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยัก พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากคือ พันธุ์ก้านแดง

ชนิดของกระท่อม

กระท่อมมีหลากหลายสายพันธุ์ที่แตกแต่งกันด้วยลักษณะอย่างความหนา สีของก้านและเส้นของใบรวมถึงดอกไม้ ในประเทศไทยจะมีสี่สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ พันธ์เหรียญทอง แตงกวา ก้านแดง และแมงดา(ใบหยัก/หางกั้ง) นอกจากนี้แต่ละชนิดจะต่างกันอีกในด้านความแรงของฤทธิ์ รสชาติ และกลิ่น บางสายพันธุ์ เช่น สายพันธ์เหรียญทองและแตงกวาจะช่วยให้ผ่อนคลายและเต็มไปด้วยฤทธิ์ที่ทำให้อาการเมาไม่แรงมาก ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ อย่างก้านแดงและแมงดามีรสชติที่ขมมากและมีการกระตุ้นที่สูงกว่า

แหล่งที่พบกระท่อมในไทยบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

สารสำคัญและโครงสร้างทางเคมีของกระท่อม

ใบกระท่อมมีสารสำคัญหลัก คือ ไมทราไจนีน เป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (alkaloids) ที่พบมากที่สุดในกระท่อม กลไกการออกฤทธิ์ของ ไมทราไจนีน และอนุพันธ์ (เช่น 7-hydroxymitragynine) เกิดจากการ จับกับตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptors) ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD

ชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบแตกต่างกัน ขึ้นกับแหล่งปลูก และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามโครงสร้างของสารประกอบ 3 ประเภท คือ

  1. อินโดลแอลคาลอยด์ (Indole Alkaloids)
  2. ออกอินโดลแอลคาลอยด์ (Oxindole Alkaloids)
  3. ฟลาวานอยด์ (Elavanoids)

ในตำรายาไทย ใบกระท่อมมีสรรพคุณใช้ระงับอาการปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น ปัจจุบันพืชกระท่อมยังมีการใช้แบบดั้งเดิมในชุมชนภาคใต้ของประเทศไทย โดยการเคี้ยวใบกระท่อมสด หรือนำไปแปรรูป เช่น ต้มน้ำดื่ม ตากแห้ง หรือบดเป็นผงเพื่อชงดื่ม สามารถทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในใบกระท่อมมีสารสำคัญหลักคือ ไมทราไจนีน ซึ่งออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับโอปิออยด์ ดังนั้นกระท่อมจึงมีฤทธิ์แก้ปวด รวมถึงฤทธิ์อื่นๆ ที่คล้ายโอปิออยด์ เช่น ฤทธิ์ที่ทำให้รู้สึกเคลิ้ม ด้วยฤทธิ์ดังกล่าว จึงเกิดปัญหาการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับยาแผนปัจจุบัน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หรือสารอื่นเพื่อให้เกิดความมึนเมา คึกคะนอง

ยกเลิกเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

กฎหมายพืชกระท่อมผ่านสภา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่สามารถปลูกเสรีได้ จนกว่าจะมี ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พ.ค. 2564 และจะมีผลใน 90 วันนับจากประกาศ หรือ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

และในวันที่ 26 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ใจความสำคัญ คือ โดยที่ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้ พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

สรรพคุณทางยาและประโยชน์ในการรักษา (Therapeutic usefulness)

แพทย์แผนโบราณในประเทศไทย ใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยาเพื่อใช้ระงับอาการปวดท้อง แก้ บิด แก้ท้องเสีย ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และระงับประสาท โดยหมอพื้นบ้านนำปลือกและ ใบมาปรุงเป็นยาหรือน้ำใบกระท่อมที่แกะก้านใบออกมาเคี้ยว และคายส่วนที่เป็นกากทิ้ง หลังจากนั้น ดื่มน้ำตาม เพื่อใช้เป็นยารักษาอาการท้องร่วง ปวดท้อง ลดอาการปวดบิด รักษาโรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้พืชกระท่อมยังเป็นองค์ประกอบ สำคัญในตำรายาคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ

  1. ระงับอาการปวด เนื่องจาก ไมทราไจนีน และ 7hydroxymitragynine มีกลไกการออกฤทธิ์ในสมอง โดย Mitragynine มีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟินประมาณ 10 เท่า
  2. ลดการซึมเศร้า (antidepressant) จากการกระตุ้นการผลิตสารสื่อประสาทชนิด serotonin
  3. บําบัดอาการถอนสุรา พบว่า สารสกัดอัลคาลอยด์จากใบกระท่อมบรรเทาอาการถอนเหล้าได้ผลดีพอ ๆกับฟลูอ็อกซีติน ปัจจุบันคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุมัติให้แพทย์แผนไทย ปลูกและใช้ใบกะท่อมในการรักษาโรคผู้ป่วยเฉพาะ

โอกาสของกระท่อมไทย สู่อุตสาหกรรมทางสุขภาพและความงาม

โอกาสสำคัญและความน่าสนใจของ กระท่อม ในฐานะพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ มีความน่าสนใจมาก จากการปลดล็อคออกจากพืชเสพติด และมีประวัติการใช้เป็นยาสมุนไพรโดยหมอพื้นบ้านนำส่วนเปลือกและใบพืชกระท่อม นิยมนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ มาตั้งแต่อดีต

สาร Mitragynine ในใบกระท่อมและมีคุณสมบัติและสามารถนำมาเพื่อพัฒนาต่อยอด ใช้ในการบำรุง รักษาและป้องกันโรคต่างๆ แต่เพียงแค่ว่าสารนี้มีอยู่น้อยมากในกระท่อม ดังนั้นการต่อยอดการพัฒนางานวิจัยและสารสกัดจากธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีในการสกัด สารไมทราไจนีน (Mitragynine) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยไม่จัดเป็นสารเสพติด

ทั้งนี้สามารถนำสารสกัดจากกระท่อม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย อาทิเช่น เครื่องดื่ม เสริมอาหาร ยาดม ยาบำรุงกำลัง หรือ อาหาร และยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดขนาดใหญ่

ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ Mitragynine ด้วยเทคนิค HPLC

จากรูป แสดงโครมาโตแกรมของ Mitragynine นำพื้นที่ใต้กราฟมาคำนวณหาปริมาณของ Mitragynine โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานได้

Literature:

  • วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง, ภ.บ., ว.ม. “พิษวิทยาของพืชกระท่อม ”ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล “พืชกระท่อม (Kratom)
  • จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล. พืชกระท่อม [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม; สืบค้นจาก:
  • “ข้อมูลวิชาการ พืชกระท่อม” โดย สถาบันบําบัดรักษาและฟนฟูผูติดยาเสพติดแหงชาติบรมราชชนน
  • เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์. พืชใบกระทอมช่วยลดอาการลงแดงจากสารเสพติด.
  • ประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ตอจิตและประสาท. สืบค้นจาก
  • รศ.ดร. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ “ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา Mitragynine สารสำคัญในใบกระท่อม” สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล
  • E. Mudge, P. Brown, 2017, Determination of Mitragynine in Mitragyna speciosa Raw Materials and Finished Products by Liquid Chromatography with UV Detection: Single-Laboratory Validation., Chemistry, Medicine, Journal of AOAC International.