ข้อมูลบริการทดสอบปริมาณสารวิตามินซี (Vitamin C) ในผลิตภัณฑ์
บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณ องค์ประกอบทางชีวภาพ (Biomarker) ของ สารวิตามินซี (Vitamin C) อนุพันธ์แอล-แอสคอร์บิก แอซิด (L–Ascorbic Acid) ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสารวิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก เป็นวิตามินละลายในน้ำชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เองเนื่องจากไม่มีเอนไซม์ L-gulonolactone oxidase จึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยทั่วไปวิตามินซี จะเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน แสงแดด และอากาศ วิตามินซี พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเช่น มะขามป้อม อะเซโรล่า เชอร์รี่ กีวี ฝรั่ง รวมถึงผักบางชนิด เช่น พริกหวาน บร็อคโคลี มะระขี้นก และมะเขือเทศ ปัจจุบันวิตามินซีเป็นสารที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม เนื่องจากวิตามินซีมีประโยชน์ทั้งทางสุขภาพ ร่างกาย และมีฤทธิ์ช่วยบำรุงผิวหนัง ให้ขาวกระจ่างใสได้อีกด้วย
วิตามินซี คืออะไร
วิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก มีสูตรโครงสร้างทางเคมี C6H8O6 เป็นวิตามินละลายในน้ำชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เองเนื่องจากไม่มีเอนไซม์ L-gulonolactone oxidase จึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยทั่วไปวิตามินซี จะเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน แสงแดด และอากาศ ดังนั้นหากเก็บผักและผลไม้ไว้เป็นเวลานาน ปริมาณวิตามินซีก็จะลดลงอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ไม่สามารถถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้นานจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีทุกวันเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
แหล่งอาหารของวิตามินซี
วิตามินซี พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเช่น มะขามป้อม อะเซโรล่า เชอร์รี่ กีวี ฝรั่ง รวมถึงผักบางชนิด เช่น พริกหวาน บร็อคโคลี มะระขี้นก และมะเขือเทศ สำหรับผู้ที่รับประทานผักและผลไม้น้อย หรือรับประทานผัก และผลไม้ที่เก็บไว้ เป็นเวลานาน ผู้ที่เครียด อยู่ท่ามกลางมลพิษ สูบบุหรี่ ดื่มสุราเป็นประจำ อาจได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยส่วนใหญ่รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ หรือ มีผู้ที่รับประทานผักและผลไม้เพียงพอตามที่แนะนำ (มากกว่า 5 หน่วยบริโภค หรือ 400 กรัม) เพียงแค่ 21.2% เท่านั้น
ตารางแสดง ปริมาณวิตามินซีในผลไม้
ชื่อของผลไม้ | ปริมาณต่อหน่วยบริโภค | ปริมาณวิตามินซี (มิลลิกรัม) |
---|---|---|
ฝรั่งกิมจู | ½ ผล | 138 |
ฝรั่งกลมสาลี่ | ½ ผล | 234 |
มะละกอแขกดำ | 7 ชิ้นคำ (6x2x1.5 ซ.ม.) | 79 |
มะละกอฮอลแลนด์ | 4 ชิ้นคำ (4×4.5×2 ซ.ม.) | 109 |
ลิ้นจี่จักรพรรดิ์ | 4 ผล | 62 |
สตรอเบอร์รี่ | 9 ผล | 112 |
เงาะโรงเรียน | 4 ผล | 55 |
มะขามป้อม | 8 ผล | 80 |
ประโยชน์ของวิตามินซี
วิตามินซีนิยมใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างแพร่หลาย ซึ่งวิตามินซีมีประโชน์ต่อสุขภาพมากมาย ดังนี้
- มีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ
- มีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ
- ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน เพื่อการทำงานตามปกติของกระดูกอ่อน กระดูก ฟัน เหงือก และผิวหนัง
- มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากเมตาบอลิซึมตามปกติ
- มีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาท
- มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- มีส่วนช่วยในการคืนสภาพของรีดิวซ์วิตามินอี
- ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก
การใช้วิตามินซีในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ ครีม โลชั่นและเซรั่ม เป็นต้น นิยมนำวิตามินซีเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เนื่องจากวิตามินซี มีคุณสมบัติในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยในการกระตุ้นคอลลาเจน ช่วยให้ผิวแลดูกระจ่างใส ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของวิตามินซี ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีสีทึบหรือเป็นขวดแก้วสีชา เพื่อช่วยป้องกันการออกซิไดซ์จากแสง และหลังจากการใช้ควรปิดให้สนิท เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปในขวด เนื่องจากวิตามินซีจะเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับแสงแดด และอากาศ
การใช้วิตามินซีในอุตสาหกรรมต่างๆ
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือ Functional drink ที่มีวิตามินซีเป็นส่วนผสมอยู่มากมาย โดยอาจจะใช้คำกล่าวอ้างตามปริมาณของวิตามินซีที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของการเติมวิตามินที่ละลายได้ในน้ำไว้ที่ 200 % ของสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) สำหรับปริมาณวิตามินซี คือ ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งต้องมีปริมาณวิตามินซีตรงตามที่แจ้งและแสดงบนฉลากรวมถึงสามารถคงปริมาณตลอดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้วิตามินซี ยังเป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา โดยมีลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด หรือของเหลว เพื่อช่วยป้องกันการขาดวิตามินซี ช่วยดูแลผิวและสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณวิตามินซี ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อการบริโภคใน 1 วัน สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ และหากมีปริมาณวิตามินซีมากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อการบริโภคใน 1 วัน ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับวิตามินซีที่เป็นยา มีทั้งในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน
ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ วิตามินซี ด้วยเทคนิค HPLC
รูปที่ 1
รูปที่ 2
การรายงานผลการวิเคราะห์วิตามินซี ด้วยเทคนิค HPLC
จากรูปที่ 1 แสดงโครมาโตแกรม ของวิตามินซี ซึ่งสามารถนำพื้นที่ใต้กราฟมาคำนวณหาปริมาณของวิตามินซี โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน และรูปที่ 2 คือ ปริมาณของวิตามินซีที่คำนวณได้
Literature:
- รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2562-2563, กันยายน 2564.
- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร, เล่ม 136, 10 มิถุนายน 2562.
- ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 โดย คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
- คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2553.
- ประกาศสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดวิตามินและแร่ธาตุ, 2549.
- Mohamed H.S. Ahmida, Determination of Ascorbic Acid in Vitamin C (Tablets) by High-Performance Liquid Chromatography, Asian Journal of Chemistry Vol. 21, No. 8 (2009), 6463-6467