ข้อมูลบริการทดสอบปริมาณ สาร CBD, CBDV หรือ CBDA

บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณ องค์ประกอบทางชีวภาพ (Biomarker) ของสาร CBD, CBDV หรือ CBDA ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

สาร CBDV(Cannabidivarin) ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีงานวิจัยศึกษาว่าสาร CBDV ช่วยสามารถบรรเทาอาการลมชัก คลื่นไส้และอาเจียนได้ และสาร CBDA(Cannabidiolic acid) ช่วยต้านการอักเสบ บรรเทาอาการคลื่นไส้และวิตกกังวลได้ การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐาน โดยต้องมีปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่คงที่และไม่มีสาร THC สูงจนเกินไป และต้องไม่มีสารปนเปื้อน มีการควบคุมคุณภาพและปริมาณของสารสกัดจากกัญชาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ทำความรู้จักกับกัญชา

กัญชา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. indica (Lam.) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคในตำรับยาแผนโบราณมาเป็นเวลาหลายพันปี ซึ่งมีบันทึกการใช้ในศตวรรษที่ 8 ของตำรับยาแผนโบราณของอาหรับ และยังพบการใช้ในตำรับยาจีน ตำรับยาอายุรเวช ตำรับยาไทย และเภสัชตำรับของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ กัญชาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศร้อน เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสำปะหลังหรือใบละหุ่ง ใบหนึ่งมีประมาณ 5-7 แฉกในก้านเดียวกัน

กัญชาได้รับการอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการอย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศ กัญชาประกอบด้วยสารสำคัญต่างๆ มากมาย หนึ่งในกลุ่มของสารสำคัญ ได้แก่ Cannabinoids ซึ่งพบมากในช่อดอกเพศเมียของกัญชาในส่วนของไตรโครม (Trichrome) โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูป Carboxylic acid หรือ Acid form แต่เมื่อโดนแสงและความร้อน จะถูก Decarboxylate เป็น Neutral form สารสำคัญในกลุ่ม Cannabinoids เป็นสารกลุ่มหลักที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและนิยมนำมาใช้ ได้แก่ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol)

แต่เนื่องจากกัญชา ประกอบด้วยสารสำคัญในกลุ่ม Cannabinoids หลายชนิด และยังมีสาร Flavonoids, Steroids, Terpenes, Fatty acids และสารอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้สารบางชนิดยังมีปริมาณน้อยอีกด้วย ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์เพื่อจำแนกชนิดของสารต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ และการวิเคราะห์หาปริมาณของสารเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อจำกัดของมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์สารต่างๆ ในกัญชาในเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งการใช้ HPLC ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้ในการตรวจวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสารต่างๆ และควบคุมคุณภาพของสารสำคัญในกัญชา

สารสกัดจากกัญชา

สารสกัดจากกัญชา นิยมใช้ส่วนช่อดอกเพศเมียของกัญชามาสกัดซึ่งมีปริมาณสารสำคัญสูง ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม Cannabinoids ได้แก่ สาร THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และสาร CBD (Cannabidiol) เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่ละลายในไขมัน จึงนิยมสกัดโดยใช้น้ำมัน โดยกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีระดับของสาร THC และ CBD ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยปริมาณจะขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ เทคนิคการปลูกก็ ดังนั้นการใช้กัญชาจากแต่ละแหล่งปลูก ก็จะให้ปริมาณสารที่แตกต่างกันไปด้วย

สารสกัดจากกัญชาในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น น้ำมัน ขี้ผึ้ง และมีการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง อาหาร เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ และยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์

CBD คืออะไร

CBD (Cannabidiol) เป็นสารหนึ่งในกลุ่ม Cannabinoids ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งพบในกัญชา CBD มีลักษณะเป็นผงสีขาวและสามารถละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งเกิดจากการสลายหมู่คาร์บอกซิลิกของ CBDA (Cannabidiolic acid) และยังสามารถผลิตได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วย

CBD เป็นสารสำคัญในกลุ่ม Cannabinoids ที่ได้รับการศึกษาวิจัยมากที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ และยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์

CBD ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และไม่เกิดการดื้อต่อการใช้ มีการใช้ CBD เพื่อช่วยลดความถี่ในการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก ช่วยให้ผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ช่วยการนอนหลับ ช่วยเจริญอาหาร แก้อาเจียน บรรเทาอาการปวด และต้านการอักเสบ และยังช่วยลดผลข้างเคียงจากอาการเมาและอาการทางจิตของ THC ด้วย

รูปแสดงโครงสร้างของสาร CBD

CBDV

CBDV (Cannabidivarin) เป็นสารหนึ่งในกลุ่ม Cannabinoids ที่พบได้ในกัญชา CBDV ได้จากการเปลี่ยนของ CBCVA (Cannabichromvarinic acid) เป็น CBDVA (Cannabidivarinic acid) จากนั้น CBDVA จะสลายหมู่คาร์บอกซิลออก จากนั้น CBDVA จะเปลี่ยนเป็น CBDV (Cannabidivarin) CBDV ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีงานวิจัยศึกษาว่าสาร CBDV ช่วยสามารถบรรเทาอาการลมชัก คลื่นไส้และอาเจียนได้

รูปแสดงโครงสร้างของสาร CBDV

CBDA

CBDA (Cannabidiolic acid) เป็นสารสำคัญชนิดหนึ่งในกลุ่ม Cannabinoids ที่พบได้ในกัญชา สาร CBDA ได้จากการเปลี่ยนของ CBGA (Cannabigerolic acid) เป็น CBDA ซึ่งสาร CBDA ไม่ค่อยเสถียร เนื่องจากเมื่ออยู่ในสภาวะแห้งและร้อน จะสลายหมู่คาร์บอกซิลิกออกไป ทำให้ CBDA เปลี่ยนเป็น CBD (Cannabidiol) ได้

CBDA มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) จึงมีการศึกษาวิจัยมากมายที่พบว่า CBDA ช่วยต้านการอักเสบ นอกจากนี้ CBDA ยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และวิตกกังวลได้ด้วย

รูปแสดงโครงสร้างของสาร CBDA

การใช้สารสกัดจากกัญชาในอุตสาหกรรมอาหาร

สารสกัดจากกัญชาที่มีส่วนประกอบของสาร CBD มาใช้ในอาหารและเครื่องดื่มมากมาย เช่น น้ำผลไม้ คอกเทล ขนมขบเคี้ยว เจลลี่ เบเกอรี่ คุกกี้ บราวนี่ ช็อคโกแลต เป็นต้น ซึ่งอาจมีปริมาณของสารสูงมากกว่าที่พบในธรรมชาติหลายเท่า โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถ้าดูจากภายนอก จะไม่แตกต่างจากอาหารหรือขนมทั่วไป ดังนั้นการใช้สารสกัดในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ นั้น ควรมีการควบคุมปริมาณสารสำคัญด้วย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

การใช้สารสกัดจากกัญชาในอุตสาหกรรมความงาม

สารสกัดจากกัญชาที่มีสาร CBD สามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลความงามและผิวพรรณได้ เช่น เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยสาร CBD มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้ผิวชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในยาสีฟันและน้ำหอมได้ด้วย แต่ในประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการใช้สารสกัดในเครื่องสำอาง คือ ความเข้มข้นสูงสุดของสาร CBD ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต้องไม่เกิน 1 %w/w และต้องแสดงคำเตือนตามที่กฎหมายกำหนด

การใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์

เนื่องจากกัญชามีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีสัดส่วนของสารออกฤทธิ์แตกต่างกัน จึงให้ผลการรักษาและมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน ดังนั้นการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องรู้ชนิดและปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่แน่นอน ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ในรูปแบบของยาและสมุนไพรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะใช้สาร THC และ CBD เป็นหลัก ซึ่งสาร CBD มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดและควบคุมอาการชักได้

การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐานของกัญชา โดยต้องมีปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่คงที่และไม่มีสาร THC สูงจนเกินไป และต้องไม่มีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก เชื้อรา ยาฆ่าแมลง มีวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง มีขั้นตอนดูแลและควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสม และที่สำคัญต้องได้รับการรับรองจากอย. นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการการสกัด การแยกสารบริสุทธิ์ และควบคุมคุณภาพและปริมาณของสารสกัดจากกัญชาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ Phytocannabinoids 17 ชนิด

รูปที่ 1

รูปที่ 2

การรายงานผลการวิเคราะห์ Phytocannabinoids 17 ชนิด ในเวลา 11 นาที ด้วยเทคนิค HPLC ที่ใช้ UV-Vis detector

จากรูปที่ 1 แสดงโครมาโตแกรม ของPhytocannabinoids 17 ชนิด แล้วนำพื้นที่ใต้กราฟมาคำนวณหาปริมาณของสารต่างๆ 17 ชนิด โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน โดยตัวอย่างรูปที่ 2 คือ ปริมาณของสาร CBDA ที่คำนวณได้

Literature:

  • กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ตุลาคม 2563.
  • Brenneisen R. “Chemistry and analysis of Phytocannabinoids and Other Cannabis Constituents” in Marijuana and the Cannabinoids. Humana Press, New Jersey, pp. 17-49, 2007.
  • Galettis, Peter & Williams, Michelle & Gordon, Rebecca & Martin, Jennifer. (2021). A Simple Isocratic HPLC Method for the Quantitation of 17 Cannabinoids. Australian Journal of Chemistry. 74. 10.1071/CH20380.
  • Hanus LO, Meyer SM, Munoz E, Taglialatela-Scafati O, Appendino G. Phytocannabinoids : a unified critical inventory. Nat Prod Rep 2016; 33(12) : 1357-92.
  • De Petrocellis L, Ligresti A, Moriello AS, Allarà M, Bisogno T, Petrosino S, Stott CG, Di Marzo V. Effects of cannabinoids and cannabinoid-enriched Cannabis extracts on TRP channels and endocannabinoid metabolic enzymes. Br J Pharmacol. 2011 Aug;163(7):1479-94.
  • Nelson KM, Bisson J, Singh G, Graham JG, Chen SN, Friesen JB, Dahlin JL, Niemitz M, Walters MA, Pauli GF. The Essential Medicinal Chemistry of Cannabidiol (CBD). J Med Chem. 2020 Nov 12;63(21):12137-12155.
  • Bonini SA, Premoli M, Tambaro S, Kumar A, Maccarinelli G, Memo M, et al. Cannabis sativa: a comprehensive ethnopharmacological review of a medicinal plant with a long history. J Ethnopharmacol 2018; 227: 300-15.
  • 10 คำถาม “กัญชง-กัญชา” เรื่องน่ารู้จาก “อภัยภูเบศร”, กรมสุขภาพจิต, 2564.
  • โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชง เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564.
  • บังอร ศรีพานิชกุลชัย, การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2562; 15(4) : 1-26.
  • ศรายุธ ระดาพงษ์, พราว ศุภจริยาวัตร และเมธิน ผดุงกิจ, ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของกัญชา, วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2564; 63 (1) : 219-232