ข้อมูลบริการทดสอบปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (Total Flavonoid Content) ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับทดสอบปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (Total Flavonoid Content) ได้กับตัวอย่างหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น ทั้งนี้เรารับบริการทดสอบปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (Flavonoid) กับวัตถุดิบสมุนไพร, ผัก หรือ ผลไม้ ได้อีกด้วย

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เป็นสารประกอบฟีนอลิกที่พบมากที่สุด พบได้ทั่วไปในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืช เช่น ผัก และ ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา โกโก้ เบียร์ และไวน์ เป็นต้น ซึ่งสารฟลาโวนอย มีประโยชน์ต่อสุขภาพและความงามของร่างกาย เนื่องจากเป็นสารอาหารและสารตัวช่วยต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพและความงามของผิวหนังและร่างกาย ดังนี้ สารฟลาโวนอยด์เป็นสารอาหารที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสียูวีที่อาจทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อผิวหนังได้ การใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารฟลาโวนอยด์ จึงมีประสิทธิภาพในการลดความเสียหายต่อสุขภาพและความงามได้ และสารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ช่วยลดอาการอักเสบในร่างกาย ลดอาการอักเสบสามารถช่วยลดอาการบวมและแดงของผิวหนังได้ อีกทั้งสารฟลาโวนอยด์มีคุณสมบัติสามารถช่วยลดการเกิดริ้วรอยในผิวหนัง โดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ช่วยให้ผิวหนังคงความเรียบเนียน ไม่เกิดริ้วรอย ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารฟลาโวนอยทั้งหมด (Total Flavonoid Content) ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงถึงประสิทธิภาพและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ข้อมูลและที่มาของสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)

ฟลาโวนอยด์เป็นสารประกอบฟีนอลิกที่พบมากที่สุด พบได้ทั่วไปในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืช เช่น ผัก และ ผลไม้ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว เครื่องเทศ สมุนไพร ลำต้น กิ่งก้าน ดอก และเมล็ด รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา โกโก้ เบียร์ และไวน์ เป็นต้น  ในธรรมชาติพบฟลาโวนอยด์ มากกว่า 4,000 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปกลัยโคไซด์ (glycosides) ซึ่งมีหมู่ไฮดรอกซิลหนึ่งหมู่หรือมากกว่า ในโมเลกุลจะจับอยู่กับน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเช่น กลูโคส แรมโนส อะราบิโนส และไซโลส

ฟลาโวนอยด์ เป็นสารเมตาบอไลต์ขั้นทุติยภูมิ (secondary metabolite) จากธรรมชาติในกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenolic compounds) สร้างจากกรดอะมิโนที่มีวงแหวน (aromatic amino acids) ได้แก่ phenylalanine, tyrosine และ malonate โดยทำหน้าที่เป็นสารให้สีที่สำคัญในพืช ช่วยในการกรองรังสีอัลตราไวเลต และการช่วยตรึงไนโตรเจน

การจำแนกกลุ่มย่อยของสารฟลาโวนอยด์ (Classification of Flavonoid)

สารประกอบฟลาโวนอยด์เป็นสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติประเภทหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในอาหารที่ เป็นพืช เช่น ผักและผลไม้ โครงสร้างพื้นฐานของสารประกอบฟลาโวนอยด์เป็นฟีนอลเบนโซไพโรน (phenyl benzopyrones) ประกอบด้วยคาร์บอน 15 ตัว (C6 – C3 – C6) จัดเรียงเป็น 3 ring เรียก เป็น ring A, B, และ C โดย ring A และ B เป็นวงเบนซีน (benzene ring) ส่วน ring C เป็น heterocyclic pyran ring ซึ่งอยู่ตรงกลางของโครงสร้าง

ฟลาโวนอยด์ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามตำแหน่งของหมู่ฟังก์ชัน ซึ่งแทนที่ในโครงสร้างพื้นฐาน ได้เป็น 7 กลุ่ม ดังนี้

  1. ฟลาโวนอล (flavonols) เช่น สารเคอร์ซิติน (quercetin) พบมากในอาหาร เช่น แอปเปิล ชา หัวหอม เกาลัด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ผักคะน้าและกะหล่ำปลี เคอร์ซิตินมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์มากมาย เช่น ช่วยปรับปรุงระบบหมุนเวียนโลหิต ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ต้านภาวะอักเสบและอาการแพ้ต่างๆ ฤทธิ์ทางชีวภาพทั้งหมดนี้เกิดจากการต้านการเกิดออกซิเดชันที่มีอยู่สูงของเคอร์ซิติน โดยการจับกับอนุมูลอิสระที่จะเป็นอันตรายต่อเซลล์, สารแคมป์เฟอรอล (kaempferol) พบมากในแหล่งธรรมชาติเช่น แอปเปิล หัวหอม กระเทียม ผลส้ม องุ่น ไวน์แดง แป๊ะก้วย และชา มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านออกซิเดชันสูง ช่วยป้องกันเซลล์ไขมัน และ สารไมริซิติน (myricetin)
  2. ฟลาโวน (flavones) เช่น สารลูติโอลิน (luteolin), สารอาพิจินิน (apigenin) พบทั่วไปในผักและผลไม้ เช่น ผักชี คื่นช่าย หัวหอม แอปเปิล และส้ม เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าอาพิจินินสามารถต้านการแพร่ขยายของเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม ลิวคีเมีย มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ และสารไครซิน (chrysin)
  3. ฟลาวาโนน (flavanones) เช่น สารเฮสเพอริติน (hesperetin), สารนารินจินิน (naringenin) และอีริโอดิคทิออล (eriodictyol)
  4. ฟลาวานอล (flavanols) เช่น สารแคทิชิน (catechin), สารแกลโลแคทิชิน (gallocatechin), สารอีพิแคทิชิน (epicatechin) เป็นสารประกอบกลุ่มหลักของฟลาโวนอยด์ที่พบในชาเขียว, สารอีพิแกลโลแคทิชิน (epigallocatechin), สารอีพิแคทิชิน -3-แกลเลต (epicatechin-3-gallate), สารอิพิแกลโลแคทิชิน-3-แกลเลต (epigallocatechin-3-gallate, EGCG) สาร EGCG เป็นสารที่พบมากที่สุดในชาเขียวคือประมาณ 40%ของสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด
  5. ฟลาวาโนนอล (flavanonols) เช่น สารแทกซิโฟลิน (taxifolin)
  6. ไอโซฟลาโวน (isoflavones) เช่น สารเดดซีน (daidzein), สารจีนิสตีน (genistein), สารไกลซิตีน (glycitein) และสารฟอร์โมโนเนติน (formononetin)
  7. แอนโธไซยานิดิน (anthocyanidins) เช่น สารไซยานิดิน (cyanidin), สารเดลฟินิดิน (delphinidin), สารมาลวิดิน (malvidin), สารพีลาร์โกนิดิน (pelargonidin), สารพีโอนิดิน (peonidin) และ สารพีทูนิดิน (petunidin)

ประโยชน์และการนำไปประยุกต์ใช้สารฟลาโวนอยด์ ทางด้านสุขภาพและความงาม

ด้านสุขภาพ

ฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ พบในเม็ดสีชนิดละลายในน้ำของผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ใบไม้ และเปลือกไม้ ซึ่งสารฟลาโวนอยด์มีอยู่มากมายหลายชนิด และพืช แต่ละชนิดจะมีฟลาโวนอยด์แต่ละประเภทในความเข้มข้นที่ต่างกันไป โดยมีการศึกษา พบว่าฟลาโวนอยด์บางชนิดมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระเหนือกว่าวิตามินซีหรือวิตามินอีถึง 50 เท่า และฟลาโวนอยด์ในองุ่นแดงมีความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันแอลดีแอล (LDL-fat) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการอุดตันของเส้นเลือดแดงและการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าวิตามินอีถึงกว่าหนึ่งพันเท่า

ด้านการใช้สีจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

ฟลาโวนอยด์เป็นแหล่งของสีย้อมธรรมชาติ ส่วนใหญ่ให้สีเหลือง สีส้ม หรือส้มแดง เช่น ลูทิโอลิน (Luteolin) จากพืชในตระกูล, Reseda luteola จะให้สีเหลือง, เควอซีทีน (Quercetin) จากเปลือกหอมหัวใหญ่ให้สีเหลืองเข้ม, มอริน (Morin) จากแก่นขนุนจะให้สีเหลืองเข้ม, คาร์ทามิน (Carthamin) จากดอกคำฝอยให้สีเหลืองปนน้ำตาล ซึ่งสีดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางได้

ด้านการแพทย์

การศึกษาทางคลินิกสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ได้ถูกพัฒนา เป็นยารักษาโรคมะเร็งซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์และชักนำการตายของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติและสามารถยับยั้งการพัฒนาและความรุนแรงของโรคมะเร็ง เช่น การอักเสบการสร้างหลอดเลือดใหม่

ด้านเครื่องสำอาง

การศึกษาพบว่าสารฟลาโวนอยด์บางชนิด เช่น rutin, catechin มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของกลุ่มเอนไซม์ matrix metalloproteinase (MMP) นอกจากนี้ยังพบว่า ฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น catechin, quercetin, apigenin, hesperetin มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงมีการนำสารฟลาโวนอยด์มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ช่วยลดริ้วรอย จุดด่างดำและขาวกระจ่างใส

วิธีการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณสารฟลาโวนอยด์

  1. การหาปริมาณฟลาโวนอยด์โดยเฉพาะกลุ่ม การวิเคราะห์หาปริมาณฟลาโวนอยด์โดยเฉพาะกลุ่ม หรือ โดยเฉพาะชนิดนั้น สามารถทำได้โดยมักใช้เทคนิค HPLC (High-Performance Liquid Chromatography), UV-Visible สเปคโตร โฟโตมิเตอร์ (UV-Visible Spectrophotometer) และการตรวจวัดด้วยรังสีอุลตราไวโอเลต PDH (Photo-diode array) หรือ MS (Mass spectrometer) เนื่องจากสารประกอบฟลาโวนอยด์จากพืช มักอยู่ในรูปออร์โทไกลโคซิดิค (Oglycosidic) โดยจับกับน้ำตาล เช่น กลูโคส (glucose) กาแลคโตส (galactose) แรมโนส (rhamnose) อะราบิโนส (arabinose) และรูติโนส (rutinose) แต่ในการวิเคราะห์หาปริมาณฟลาโวนอยด์จะทำการวิเคราะห์เฉพาะส่วนอะไกลโคน ดังนั้น ต้องใช้กรดไฮโดร ไลซ์น้ำตาลออกไปจากโมเลกุลซึ่งโดยมากนิยมใช้กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid) ก่อนที่จะนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคและเครื่องมือข้างต้นการหาปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมด
  2. การวิเคราะห์ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (Total Flavonoid Content, TFC) โดยวิธี Aluminum chloride colorimetric method เป็นวิธีการทดสอบโครงสร้างสารประกอบเชิงซ้อนของอะลูมิเนียมที่นิยมใช้มากที่สุด ในการหาปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมด องค์ประกอบของสารประกอบเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการประเมินคุณค่าอาหาร หรือตัวอย่างพืชสมุนไพร โดยอาศัยปฏิกิริยาการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของอะลูมิเนียมฟลาโวนอยด์ (Aluminium – flavonoid complex) หลักการของ Al – flavonoid complexation reaction คือ การทำปฏิกิริยากันระหว่างอะลูมิเนียมไอออนและกลุ่ม o – dihydroxyl (3′, 4′ – OH) ในวงแหวน B และ o – dihydroxy ในโมเลกุลของสารประกอบฟลาโวนอยด์ซึ่งสามารถประสานกันช่วยเสริมให้จับกับอะลูมิเนียมไอออนได้ดียิ่งขึ้นเกิดผลิตภัณฑ์เป็นสารประกอบเชิงซ้อนของอะลูมิเนียมกับฟลาโวนอยด์

ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (Total Flavonoid Content, TFC)

การรายงานผลการวิเคราะห์หาปริมาณสารฟลาโวนอยด์ของสารสกัดตะขบฝรั่ง (M.calabura) ส่วนราก, ลำต้นและใบ ซึ่งศึกษาการสกัดด้วยเฮกเซน (hexane), เอธิลอะซิเตต (EtOAc) และ เมธานอล (MeOH) ทำการทดสอบหาปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมด ในสารสกัดตะขบฝรั่งด้วยวิธี AlCl3 colorimetric assay เปรียบเทียบกับ สารมาตรฐาน เคอซิติน จากผลการทดสอบ พบว่า การสารสกัดด้วยเมธานอล (MeOH) ของใบตะขบฝรั่ง มีปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมดมากที่สุดดังแสดงในภาพ

Literature:

  • สุนันทา ข้องสาย และ ลักษมี วิทยา, 2562, สารประกอบฟีนอลิก สารประกอบฟลาโวนอยด์ และฤทธิ์ต้านอนุมูล อิสระของสารสกัดจากเสม็ดขาวและเสม็ดแดง, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
  • ลือชัย บุตคุป, 2011, สารประกอบฟีโนลิกและฤทธิ์ทางชีวภาพ, J Sci Technol MSU, Vol 31, No 4, 444-455.
  • อรรถพล พันธุ์งาม ,สุรพงศ์ รัตนะและ บรรลือ สังข์ทอง, ฤทธิ์ต้านอนุมลูอิสระ ปริมาณฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ในสารสกัดตะขบฝรั่ง, การประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13, 563-570.
  • รัญชนา ชิตามระ, 2562, การหาปริมาณฟลาโวนอยด์และการทดสอบฤทธิ์ยบั ยงั้การท างานของเอนไซม์คอลลาจีเนส เอนไซม์อีลาสเตสและเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดจากกลีบดอกและเกสรของบัวสายสีเหลือง, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.