ข้อมูลบริการทดสอบปริมาณคอลลาเจนทั้งหมด (Total Collagen) ในผลิตภัณฑ์
บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับทดสอบปริมาณคอลลาเจน (Total Collagen) ในผลิตภัณฑ์ จากสารสกัด หรือ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม หรือ ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์ยา ด้วยเทคนิคการใช้ชุดทดสอบ (Collagen assay kit) ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์คอลลาเจนมีสูงมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น โดยเขาสามารถแยกความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้แค่คำกล่าวอ้างโฆษณาทางการตลาดเท่านั้น พวกเขาจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเจ้าของแบรนด์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากผู้บริโภค เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ของคุณในการดูแลสุขภาพและความงามของเขา
ซึ่งการทดสอบด้วยเทคนิคนี้จะสามารถระบุปริมาณคอลลาเจนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ได้ ประโยชน์ของการใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณคอลลาเจนของเราเป็นมากกว่าข้อมูลที่ใช้ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ของคุณ เพื่อสร้างแบรนด์ของคุณให้มีความน่าเชื่อถือ ตั้งอยู่บนรากฐานของความจริง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
คอลลาเจน คืออะไร
ปัจจุบันหลายท่านคงได้ยินและรู้จักคำว่า “คอลลาเจน”(Collagen) จากสื่อต่างๆมากมาย แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่าคอลลาเจนคืออะไรและมีประโยชน์ต่อร่างกายเราจริงหรือไม่ ในบทความนี้เราจะอธิบายให้ทุกท่านได้รับทราบกัน
คอลลาเจน (collagen) คือ โปรตีนชนิดหนึ่ง ที่ประสานกันเป็นเส้นใยอยู่ใต้ผิวในชั้นหนังแท้ ทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมเซลล์แต่ละเซลล์เข้าด้วยกัน และเรียงตัวเป็นเครือข่ายหนาแน่นในชั้นหนังแท้ รวมถึงเนื้อเยื่อ คอลลาเจนถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เซลล์ยึดเกาะกัน และทำให้ร่างกายทุกส่วนทำงานได้อย่างปกติ ถ้าร่างกายมีปริมาณคอลลาเจนลดลง เซลล์ที่ยึดเกาะกันก็จะเกิดการเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายดังภาพ ซึ่งกลไกร่างกายของคนเราจะมีกระบวนการสร้างคอลลาเจนขึ้นเองได้ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความสามารถในการผลิตคอลลาเจนก็ลดลง จึงเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอย ความหย่อนคล้อยของผิวหนัง หรืออาจเกิดอาการปวดข้อเข่า แต่อายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดการผลิตคอลลาเจนที่น้อยลง ยังมีปัจจัยอื่นอีกเช่น รังสี UV จากแสงแดด มลภาวะต่างๆ การบริโภคก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ
ชนิดของคอลลาเจนและส่วนที่พบในร่างกาย
คอลลาเจน เป็นโปรตีนโครงสร้างหลักที่สำคัญของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ในร่างกาย มีมากที่สุดประมาณ 25-35% ของโปรตีนทั้งหมด โดยจัดเป็นกลุ่ม Fibrous Protein ที่พบมากที่สุดภายใน ECM ร่วม Elastin และ Hyaluronic Acid โดยพบมากที่เส้นเอ็น กระจกตา เล็บ ผม กระดูกอ่อน กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด ซึ่งคอลลาเจนแต่ละชนิดจะอยู่ตำแหน่งที่แตกต่างกันในร่างกาย ดังแสดงในตาราง
ชนิดของคอลลาเจน | ตำแหน่งที่พบในร่างกาย |
I | ชั้นหนังแท้, เอ็นกล้ามเนื้อ, เอ็นยึด, กระดูก |
II | กระดูกอ่อน, น้ำวุ้นหลังตา |
III | ผิวหนัง, ผนังหลอดเลือด |
IV | เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อและไขมัน |
V | ปอด, กระจกตา, ผม, กระดูก |
อาหารที่มีคุณสมบัติช่วยผลิตคอลลาเจน
การบริโภคอาหาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตคอลลาเจน โดยประเภทของวัตถุดิบและอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยผลิตคอลลาเจนในร่างกายของเรา มีดังนี้
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (soybean) มีสารเจนีสทีน (genistein) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยผลิตคอลลาเจนและป้องกันเอนไซม์ที่ทำลายผิวหนังได้
- ผักสีเขียวเข้ม เช่น ผักโขม (spinach) กะหล่ำปลี (cabbage) และผักคะน้า (kale) เป็นต้น ผักเหล่านี้เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ลูทีน (lutein) ช่วยเสริมความสามารถในการผลิตคอลลาเจนและการใช้ประโยชน์จากโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผักและผลไม้สีแดง จะมีสารไลโคพีน (lycopene) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและยังส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน
- วัตถุดิบหรืออาหารที่มีส่วนผสมของกรดโอเมกา (omega acid) เช่น ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า, ถั่วอัลมอน หรือ อโวคาโด เป็นต้น
- ว่านหางจระเข้, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีคุณสมบัติในการช่วยผลิตคอลลาเจน
นอกจากอาหารดังกล่าวแล้ว ยังมีวิตามินและแร่ธาตุ ที่มีส่วนช่วยในการผลิตคอลลาเจนในร่างกายได้แก่ วิตามินอี ช่วยป้องกันคอลลาเจนถูกทำลายจากแสงแดดและอนุมูลอิสระ, วิตามินเอ, แร่ธาตุทองแดง เป็นสารที่จำเป็นในการสังเคราะคอลลาเจน แต่ทองแดงถือเป็นโลหะที่เป็นพิษ ต้องรับประทานจากอาหารที่มีส่วนประกอบเท่านั้น เช่น น้ำอ้อย, เม็ดมะม่วงหิมพาน, ถั่วเขียว เป็นต้น โดยปริมาณคอลลาเจนที่ร่างกายมนุษย์ต้องการใน 1 วัน คือ ไม่ต่ำกว่า 3,000 มิลลิกรัม แต่หากรับประทานเพียงอาหารอย่างเดียวอาจยากที่จะได้รับปริมาณคอลลาเจนที่เพียงพอต่อร่างกาย ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการหลายรายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของคอลลาเจน
คอลลาเจนในอุตสาหกรรม
คอลลาเจน ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมมีหลายชนิด โดย Native Collagen แตกต่างกับ Hydrolyzed Collagen ซึ่ง Hydrolyzed Collagen หรือ Collagen Hydrolysate คือ คอลลาเจนที่ได้จากการย่อยด้วยเอนไซม์ หรือ การใช้สารเคมีที่เป็นกรด เช่น กรดอะซิติก กรดไฮโดรคลอริก กรดฟอสฟอริก เพื่อให้เป็นเปปไทด์สายสั้นๆ คอลลาเจนที่ได้จะมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ 3-6 KDa เมื่อเทียบกับ Native Collagen ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง 285-300 KDa โดยคอลลาเจนที่พบตามธรรมชาติ ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จากผิวหนังหรือเกล็ดของสัตว์ เช่น ปลา หมู วัว ไก่ เป็นต้น
คอลลาเจนที่ผลิตจากการย่อยจะกลายเป็น Gelatin และ Hydrolyzed Collagen ถ้าสามารถผลิตให้มีน้ำหนักโมเลกุลที่เล็กลงจะเรียกว่า Collagen Peptide และสามารถย่อยจนเล็กลงเป็น Tripeptide หรือ Dipeptide
แนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน
ปัจจุบันยุคที่คนต้องใส่หน้ากาก แต่ตลาดความงามของไทยไม่เคยหยุดเติบโต ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าในปี 2016 ตลาดความงามมีมูลค่า 1.56 แสนล้านบาท ปี2017 มูลค่า 1.787 แสนล้านบาท ปี2019 มูลค่า 2.18 แสนล้านบาท และปี 2020 มูลค่า 2.27 แสนล้านบาท จากแนวโน้มชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดวิตามินและอาหารเสริมปี 2020 มีมูลค่า 25,269 ล้านบาท เฉลี่ย 8% โดยตลาดที่กินส่วนแบ่งมากที่สุดคือ ตลาดคอลลาเจน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์จาก Grand View Research ที่ระบุว่าแม้ว่า 15% ของคอลลาเจนทั้งหมด ถูกนำไปใช้ในด้านความงาม แต่จริง ๆ แล้วคอลลาเจนยังช่วยเรื่องสุขภาพของระบบไขข้อต่าง ๆ ในร่างกายอีกด้วย ส่งผลให้อุตสาหกรรมคอลลาเจนเติบโตสูงขึ้น 5.9% ต่อปี และเมื่อหันมาดูสถิติการหาคำว่า “Collagen” ใน Google จะพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2017 เป็นต้น มียอดการหาคำเพิ่มสูงขึ้น ถึง 212% ตอกย้ำว่า คอลลาเจน ยังคงเป็นตลาดที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
ในปี 2023 ตลาดของ Bovine Collagen หรือคอลลาเจนที่ได้มาจากวัว มีตลาดที่ใหญ่กว่าคอลลาเจนที่ได้จากปลาถึง 32 % โดยเว็บไซต์ GME ให้ข้อมูลว่า Bovine มีขนาดใหญ่กว่าเพราะเป็นคอลลาเจนที่สกัดออกมาได้ง่ายกว่าทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า เป็นเทรนด์ที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ Marine Collagen หรือคอลลาเจนที่ได้จากปลาก็คาดว่าจะเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตขึ้น
อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม มีการนำคอลลาเจน มาใช้ประโยชน์และมาเป้นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย ได้แก่
– ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้, น้ำวิตามิน เป็นต้น
– ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อลดริ้วรอย บำรุงผิวให้แลดูเปล่งปลั่ง
– ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน และแหล่งโปรตีนเสริม ให้แก่ร่างกาย
– ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในศัลยกรรมเสริมความงาม สำหรับรักษาแผลไฟไหม้รุนแรง หรือการฉีดเพื่อรักษารอยย่น รอยแผลเป็นหรือการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
การวิเคราะห์ทดสอบปริมาณคอลลาเจน หรือ Total Collagen
การวิเคราะห์ทดสอบปริมาณคอลลาเจนในผลิตภัณฑ์ มีหลากหลายวิธีการ ทั้งแบบการใช้เทคนิคแมสสเปกโทรเมตรี (Mass spectrometry) คือ เทคนิคในการวิเคราะห์ผลการวัดสัดส่วนมวลต่อประจุ (mass-to-charge ratio) ของอนุภาคที่มีประจุ เพื่อระบุมวลของอนุภาค ส่วนประกอบของธาตุในสารประกอบตัวอย่างหรือในโมเลกุล และแสดงถึงโครงสร้างทางเคมีของโมเลกุล เช่น เพปไทด์ และสารประกอบทางเคมีอื่นๆ หรือ การทดสอบโดยการใช้ชุดทดสอบ (Collagen assay kit) เป็นเทคนิคการตรวจสอบปริมาณคอลลาเจนในตัวอย่างทดสอบ โดยการทดสอบสารตัวอย่างเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานของคอลลาเจน แล้ววัดค่าการเรืองแสงที่ความยาวคลื่น Ex/Em คือ 375/465 nm จากนั้นคำนวณหาปริมาณคอลลาเจนในตัวอย่างทดสอบจากกราฟมาตรฐาน ซึ่งการทดสอบด้วยเทคนิคนี้จะสามารถระบุปริมาณคอลลาเจนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ได้ ประโยชน์ของการใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณคอลลาเจนของเราเป็นมากกว่าข้อมูลที่ใช้ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ของคุณ เพื่อสร้างแบรนด์ของคุณให้มีความน่าเชื่อถือ ตั้งอยู่บนรากฐานของความจริง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
Literature:
- ปรมัตถ์ ทองคำคูณ, กนิษฐา ปัญธิญา, ธัญชนก กันทวงศ์, พิมพ์ชนก พวงย้อยแก้ว และนพพล เล็กสวัสดิ์, คอลลาเจน และการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน, สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ตลาด “คอลลาเจน” แข่งดุ เข้าสู่ยุคคัดตัวจริง, 14 ตุลาคม 2564 แหล่งที่มา: ค้นหา วันที่: 10/8/2566
- พรรณธร สุจารีย์, ปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนของประชากรในกรุงเทพมหานคร, สาขาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ดร. เภสัชกรหญิงพนิตา สุวรรณน้อย, คอลลาเจน เคล็ดลับความอ่อนเยาว์?, แหล่งที่มา:
- ลีลาวดี พงษ์คุณากร, 2564, การเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างคอลลาเจนในรูปการรับประทานและการทาต่อการลดริ้วรอยและความหยาบของผิว, วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.