Bio Marker Analysis คืออะไร
Bio Marker Analysis คือ การตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ซึ่งตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ คือ สารเคมีทางชีวภาพที่เป็นองค์ประกอบในสารตัวอย่าง สามารถตรวจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร, สารสกัด, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือตัวอย่างที่มาจากร่างกาย เช่น เลือด ปัสสาวะ และน้ำนม โดยสารตัวอย่างที่นำมาตรวจวิเคราะห์ สามารถวิเคราะห์ถึงชนิดและปริมาณของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ทั้งยังบ่งบอกถึงการรับสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย สำหรับการตรวจวิเคราะห์หาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพมีหลายวิธี ซึ่ง HPLC เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
HPLC คืออะไร
HPLC (High Performance Liquid Chromatography, เครื่องโครมาโตกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง) เป็นเทคนิคคอลัมน์โครมาโตกราฟีชนิดหนึ่ง ซึ่ง HPLC ใช้ในการวิเคราะห์หรือแยกสารที่ต้องการออกจากสารตัวอย่างที่ผสมกันอยู่ในสถานะของเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยที่สามารถใช้สารตัวอย่างในปริมาณน้อย และไม่ต้องเตรียมสารตัวอย่างที่ซับซ้อนและยุ่งยาก จึงนิยมใช้ในการตรวจวิเคราะห์สารต่างๆ ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย
หลักการทำงานของ HPLC
HPLC เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สารที่ต้องการจากสารตัวอย่างที่ผสมกันอยู่ในสถานะของเหลว โดยมีองค์ประกอบหลักในการแยกสาร 2 เฟส คือ เฟสอยู่กับที่ (Stationary phase) กับเฟสเคลื่อนที่ (Mobile phase)
เริ่มด้วยการใช้ปั๊มแรงดันสูง เพื่อนำตัวทำละลายหรือของเหลว ซึ่งทำหน้าที่เป็น เฟสเคลื่อนที่ (Mobile phase) เข้าไปในระบบ จากนั้นปั๊มแรงดันสูง จะพาสารตัวอย่าง เข้าไปในช่องทางฉีดสารตัวอย่าง แล้วส่งไปที่เฟสอยู่กับที่ (Stationary phase) ซึ่งบรรจุอยู่ในคอลัมน์ เมื่อสารตัวอย่างเคลื่อนที่ผ่านคอลัมน์แล้ว สารต่างๆ ที่อยู่ในสารตัวอย่างจะถูกแยกออกมาในเวลาที่แตกต่างกัน ขึ้นกับ ความสามารถในการเข้ากันได้ดีของสารนั้นกับเฟสที่เคลื่อนที่หรือเฟสที่อยู่กับที่ หากสารใดสามารถเข้ากันหรือละลายได้ดีกับเฟสเคลื่อนที่ สารนั้นจะถูกแยกออกมาก่อน ส่วนสารไหนที่เข้ากันได้ไม่ดีกับเฟสเคลื่อนที่ หรือเข้ากันได้ดีกับเฟสอยู่กับที่ จะถูกแยกออกมาทีหลัง จากนั้นสารที่ถูกแยกออกมาจะผ่านเข้าสู่ตัวตรวจวัดสัญญาณ (Detector) สัญญาณที่บันทึกได้จะมีลักษณะเป็นพีค เรียกว่าโครมาโตแกรม (Chromatogram) นำไปวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสารที่ต้องการได้
- ใช้แยกสารที่ต้องการออกจากสารตัวอย่าง
- ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณของสารต่างๆ
- ใช้ในการจำแนกชนิดของสารตัวอย่างอย่างจำเพาะเจาะจง
- ใช้ในการเตรียมตัวอย่าง
- ใช้ในการแยกสารปนเปื้อนออกจากสารที่ต้องการวิเคราะห์