ข้อมูลบริการทดสอบปริมาณสาร Vitamin B12 ในผลิตภัณฑ์

บริษัท วิสไบโอ (VISBIO) จำกัด มีบริการรับตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณ องค์ประกอบทางชีวภาพ (Biomarker) ของสาร Vitamin B12 ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสารวิตามินบี12 จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง การทำงานตามปกติของระบบประสาท สมองและระบบภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไปไม่พบในอาหารจากพืช ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัด จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี12 ได้ ปัจจุบันจึงมีการเสริมวิตามินบี12 ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพวิตามินบี12 ในผลิตภัณฑ์ หรือการตรวจวิเคราะห์หาวิตามินบี12 ในสารตัวอย่างของพลาสม่า ซีรัม และปัสสาวะ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการตรวจวิเคราะห์เทคนิค HPLC ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้ในการตรวจวิเคราะห์กันอย่างแพร่หลาย

วิตามินบี12 คืออะไร

วิตามินบี12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) เป็นวิตามินละลายในน้ำชนิดหนึ่งที่มีแร่ธาตุโคบอลต์ (Co) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งวิตามิน B12 เป็นวิตามินเพียงชนิดเดียวที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบ และเป็นวิตามินที่มีโครงสร้างซับซ้อน ขนาดโมเลกุลใหญ่ที่สุด ถึงแม้ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ เพราะวิตามินบี 12 มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์ที่สำคัญมากมาย เช่น Methionine synthase และ Methylmalonyl CoA mutase โดยทั่วไปพืชและสัตว์ไม่สามารถสร้างวิตามินบี12 ได้ แต่วิตามินบี 12 ถูกสร้างโดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่

แหล่งอาหารของวิตามินบี12

วิตามินบี12 พบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม แต่ไม่พบในอาหารจากพืช ดังนั้นผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัดที่ไม่ได้รับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ทุกชนิด เช่น นม ไข่ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี12 จึงควรได้รับการรับวิตามินบี12 เสริมในรูปของอาหารที่มีการเติมวิตามินบี12 หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ประโยชน์ของวิตามินบี12

วิตามินบี12 มีประโชน์ต่อสุขภาพมากมาย ดังนี้

  1. ช่วยสร้างสารที่จำเป็นในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
  2. มีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาทและสมอง
  3. มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากเมทาบอลิซึมตามปกติ
  4. มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

ความต้องการวิตามินบี12 ของร่างกาย

ความต้องการวิตามินบี12 แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • อายุ 19 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุ ควรได้รับวิตามินบี12 วันละ 2.4 ไมโครกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินบี12 เพิ่มอีกวันละ 0.2 และ 0.4 ไมโครกรัม ตามลำดับ

การขาดวิตามินบี12 ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สับสน ซึมเศร้า โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Megaloblastic anemia) นอกจากนี้หากแม่ที่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด จะทำให้ลูกในครรภ์เสี่ยงต่อภาวะพร่องวิตามินบี 12 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสมอง ความจำ และการเรียนรู้ของเด็ก

การใช้วิตามินบี12 ในอุตสาหกรรมอาหาร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือ Functional drink ที่มีส่วนผสมของวิตามินบี12 หรือผสมร่วมกับวิตามินบีชนิดอื่นๆ เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเสริมวิตามิน (Vitamin water) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาทและสมอง รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ช่วยเสริมสมรรถภาพของร่างกายมีจำหน่ายมากมายในห้องตลาด ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพกันอย่างแพร่หลายสำหรับผู้ที่ไม่อยากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบเม็ดยาหรือแคปซูล โดยมองอะไรที่ง่าย อร่อย และสะดวกรวดเร็วกว่า จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เสริมวิตามินบี12 เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ

การใช้วิตามินบี12 ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา

มีการนำวิตามินบี12 มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ส่วนใหญ่จะนำมาเป็นส่วนผสมร่วมกับวิตามินบีชนิดต่างๆ เช่น วิตามินบี1 บี6 และบี12 หรือวิตามินบี1 บี2 บี2 บี3 บี5 บี6 บี7 (ไบโอติน) และบี9 (โฟเลต) เรียกว่า วิตามินบีรวม หรือเป็นส่วนผสมร่วมกับวิตามินและเกลือแร่ชนิดต่างๆ เรียกว่า วิตามินเกลือแร่รวม ใช้เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาจะมีปริมาณวิตามินบี12 สูงมากกว่าในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยยานี้จะมีวิตามินบี12 ในรูปของเม็ดยารับประทานหรือยาฉีด ใช้เพื่อรักษาอาการขาดวิตามินบี12 เช่น โลหิตจาง รักษาพยาธิสภาพของเส้นประสาทส่วนปลาย รักษาเส้นประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือวิตามินบี1 บี6 และบี12 มักใช้เพื่อบรรเทาอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ

ตัวอย่างการรายงานผลการวิเคราะห์ Vitamin B12 ด้วยเทคนิค HPLC

จากรูป แสดงโครมาโตแกรมของวิตามินบี12 ที่อยู่ในคีเฟอร์ที่มีการเสริมวิตามินบี12 ซึ่งสามารถนำพื้นที่ใต้กราฟมาคำนวณหาปริมาณของวิตามินบี12 โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน

Literature:

  • ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร, เล่ม 136, 10 มิถุนายน 2562.
  • ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 โดย คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
  • Harvard T.H. Chan, The Nutrition Source, Vitamin B12,
  • Jessy van Wyk, Trevor J. Britz. A rapid HPLC method for the extraction and quantification of vitamin B12 in dairy products and cultures of Propionibacterium freudenreichii. Dairy Science & Technology, 2010, 90 (5), ff10.1051/dst/2009055ff.